วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บทที่ 1 ความสำคัญของการท่องเที่ยว

ความหมายของการท่องเที่ยว         
                มีนักวิชาการหลายท่านเห็นพ้องต้องกันว่าการนิยามความหมายของคำว่าการท่องเที่ยว(Tourism) นั้นกระทำได้ยาก เพราะการท่องเที่ยวเป็นรูปแบบกิจกรรมหนึ่งของนันทนาการ(Recreation) ซึ่งคล้ายกับกิจกรรมทางการกีฬา หรืองานอดิเรก และการใช้เวลาว่าง นอกจากนี้เมื่อการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับการเดินทาง จึงมีปัญหาตามมาว่า การเดินทางที่จัดเป็นการท่องเที่ยวต้องมีจุดประสงค์อย่างไร และเดินทางด้วยระยะทางเท่าใด
                เนื่องจากปัญหาต่าง ในปี พ.ศ.2506 ได้มีการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วย เรื่องของการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ที่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และได้ยอมรับข้อเสนอเกี่ยวกับคำจำกัดความของการท่องเที่ยวจากนักวิชาการจากองค์การการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ(IUOTO: The International Union of Official Travel organizations ต่อมาได้กลายเป็นองค์การท่องเที่ยวโลกในปี พ.ศ.2513 : World Tourism Organization,WTO) ว่าการเดินทางที่จัดเป็นการท่องเที่ยวต้องมีลักษณะดังนี้
1.             เป็นการเดินทางจากที่อยู่อาศัยปกติไปยังที่อื่นเป็นการชั่วคราว
2.             เป็นการเดินทางด้วยความสมัครใจ
3.             เป็นการเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ใดๆ ที่มิใช่การประกอบอาชีพหรือหารายได้
นักท่องเที่ยว (Tourist)                                             
                คือ ผู้มาเยือนชั่วคราว และพักอาศัย ณ สถานที่ที่ไปเยี่ยมเยือนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ด้วยจุดประสงค์เพื่อใช้เวลาว่าง หรือเพื่อประกอบธุรกิจ เยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง ปฎิบัติภารกิจบางอย่างหรือประชุม
นักทัศนาจร (Excursionist)
                คือ ผู้มาเยือนชั่วคราว และพักอาศัย ณ สถานที่ที่ไปเยี่ยมเยือน ไม่เกิน 24 ชั่วโมง รวมถึงผู้เดินทางโดยเรือสำราญ แต่ไม่รวมผู้โดยสารผ่าน
ในปี พ.ศ.2537 องค์การท่องเที่ยวโลก ได้เพิ่มเติมปรับปรุงนิยามของการท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการสถิติแห่งองค์การสหประชาชาติ ใน 2 ประเด็น ได้แก่
1.               การท่องเที่ยวประกอบด้วยกิจกรรมของผู้เดินทางไปยังสถานที่อื่นใดที่มิใช่ที่พักอาศัยปกติและมีการพักอาศัย ณ สถานที่นั้น ไม่มากไปกว่าหนึ่งปีอย่างต่อเนื่อง
2.               การใช้แนวคิดที่กว้างนี้ทำให้มีความเป็นไปที่จะนิยมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ
กลุ่มนักท่องเที่ยว ได้แก่
-         ผู้ที่ไม่มีถิ่นพำนักในสถานที่ที่ไปเยือน
-         ผู้ที่มีสัญชาติของประเทศนั้น
-         ผู้ที่เป็นลูกเรือ ซึ่งไม่มีถิ่นพำนักในสถานที่ที่ไปเยือน และพัก ณ สถานที่นั้นมากกว่า 24 ชั่วโมง
กลุ่มนักทัศนาจร ได้แก่
-         ผู้โดยสารเรือสำราญหรือเรือเดินสมุทร
-         ผู้ที่มาเยือนและจากสถานที่นั้นไปภายในวันเดียว
-         ผู้ที่เป็นลูกเรือ ซึ่งไม่มีถิ่นพำนักในสถานที่ที่ไปเยือน และแวะพักเพียงชั่วคราว น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งผู้มาเยือนตามถิ่นพำนักได้อีกเช่นกันได้แก่
1.               ผู้มาเยือนขาเข้า คือ ผู้มาเยือนที่มีถิ่นพำนักในประเทศหนึ่งและเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอีกประเทศหนึ่ง
2.               ผู้มาเยือนขาออก คือ ผู้มาเยือนที่มีถิ่นพำนักในประเทศหนึ่งและไปท่องเที่ยวยังอีกประเทศหนึ่ง
3.               ผู้มาเยือนภายในประเทศ คือ ผู้มาเยือนที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศที่ตนเองมีถิ่นพำนักอยู่
วัตถุประสงค์ของการเดินทางท่องเที่ยว
1.               เพื่อความเพลิดเพลินยสนุกสนานและพักผ่อน
2.               เพื่อธุรกิจ
3.               เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ
ประเภทการท่องเที่ยว
                แบ่งออกเป็น 3 วิธีใหญ่ ได้แก่ การแบ่งตามสากล การแบ่งตามลักษณะการจัดการเดินทางและการแบ่งตามจุดมุ่งหมายของการท่องเที่ยว
                การแบ่งตามสากล ได้แก่การแบ่งโดยใช้ประเทศเป็นตัวกำหนดได้แก่
1.               การท่องเที่ยวภายในประเทศ หมายถึง ผู้ที่อยู่อาศัยภายในประเทศนั้นๆ เดินทางเที่ยวภายในประเทศของตนเอง อาทิ การเดินทางไปร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ของคณะสมาชิกสภาเทศลาลอำเภอปากเกร็ด
2.               การท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ หมายถึง ผู้ที่มีถิ่นพำนักอาศัยที่อื่นเดินทางเข้ามาเที่ยวภายในประเทศนั้นๆ อาทิ การเดินทางไปเล่นน้ำทะเล และอาบแดดที่ประเทศไทยของชาวอเมริกัน
3.               การท่องเที่ยวนอกประเทศ หมายถึง ผู้ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศหนึ่งเดินทางออกไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ
การแบ่งตามลักษณะการจัดการเดินทาง แบ่งออกเป็น
1.               การท่องเที่ยวแบบหมู่คณะหรือที่เรียกว่า Group Inclusive Tour:GIT การท่องเที่ยวแบบนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือกรุ๊ปเหมา หรือกรุ๊ปจัด
2.               การท่องเที่ยวแบบอิสระ เรียกว่า Foreign Individual Tourism:FIT การท่องเที่ยวประเภทนี้ นักท่องเที่ยวต้องการความเป็นอิสระ และมักเดินทางตามลำพัง นักท่องเที่ยวอาจวางแผนการเดินทางด้วยตนเอง
การแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการเดินทาง
1.               การท่องเที่ยวเพื่อความเพลิดเพลินและพักผ่อน กิจกรรมที่เกิดขึ้นมักจะไม่สลับซับซ้อน มีรูปแบบเรียบง่าย อาทิ การเล่นน้ำทะเล การชมดอกไม้ การนั่งชมเมือง
2.               การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ กิจกรรมหลักที่เกิดคือกิจกรรมทางธุรกิจทั่วไปและ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม MICE ส่วนกิจกรรมเสริมอาจจะเป็นกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนคลายเครียด
3.               การท่องเที่ยวเพื่อจุดประสงค์พิเศษ กิจกรรมที่เกิดขึ้นจะมีความสลับซับซ้อนและเป็นระบบ มีหลายรูปแบบ แต่สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
ก.       การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ข.       การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและกีฬา
ค.       การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม
ง.       การท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสชาติพันธุ์และวัฒนธรรมพื้นถิ่น
จ.       การท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หมายถึง ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยแรงงานการลงทุน เทคนิควิชาชีพเฉพาะ มีการวางแผน การจัดองค์กร และการตลาด เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ หากแต่แตกต่างกันตรงที่ สินค้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสินค้าที่เรียกว่า สินค้าที่จับต้องไม่ได้ และไม่มีการเคลื่อนที่ไปหาผู้ซื้อ หากแต่ผู้ซื้อหรือนักท่องเที่ยวต้องเดินทางไปซื้อสินค้าหรือบริการ ณ แหล่งผลิต ซึ่งก็คือ สถานที่ที่มีทรัพยากรทางการท่องเที่ยว อาทิ ภูเขา ทะเล น้ำตก แหล่งโบราณคดี พระราชวัง สวนสนุก และอื่น หากจะกล่าวว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก็คงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่
1.               องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนักท่องเที่ยว
2.               องค์ประกอบที่สนับสนุนกิจกรรมทางการท่องเที่ยว
องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนักท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น
1.               สิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว
2.               ธุรกิจการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางอากาศและทางน้ำ
3.               ธุรกิจที่พักแรม
4.               ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร
5.               ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศน์
องค์ประกอบที่สนับสนุนกิจกรรมทางการท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น
1.               ธุรกิจการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก
2.               ธุรกิจการประชุม สัมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการจัดนิทรรศการ
3.               การบริการข่าวสารข้อมูล
4.               การอำนวยความสะดวกทางด้านความปลอดภัย
5.               การอำนวยความสะดวกในการเข้า-เมือง
ความสำคัญของการท่องเที่ยว
ทางด้านเศรษฐกิจ
1.               สร้างรายได้เป็นเงินตราเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา รายได้ที่มาจากนั้นการท่องเที่ยวทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยเป็นอันดับ 1
2.               การท่องเที่ยวก่อให้เกิดการหมุนเวียนและกระจายรายได้ไปสู่ท่องถิ่น ดังที่กล่าวไปแล้วว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม
3.               การท่องเที่ยวก่อให้เกิดการนำเอาทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดในรูปแบบต่างๆ
4.               การท่องเที่ยวช่วยลดปัญหาการว่างงาน และการอพยพเข้ามาในเมืองหลวงของประชาชนจากชนบท ทำให้รัฐบาลมีรายรับในรูปของภาษีอากร
ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
1.               การท่องเที่ยวมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีของมวลมนุษยชาติ ก่อให้เกิดสันติภาพแก่โลก
2.               การท่องเที่ยวมีส่วนในการพัฒนา ยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมในรูปแบบของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
3.               การท่องเที่ยวมีส่วนในการลดปัญหาสังคม เนื่องจากเมื่อคนมีงานทำมีรายได้ ปัญหาอาชญากรรม สิ่งเสพติด ก็ลดลงตามไปด้วย
4.               การท่องเที่ยวมีส่วนในการช่วยฟื้นฟู อนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สร้างความภูมิใจ สำนึกและตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
5.               การท่องเที่ยวมีส่วนช่วยให้คนในสังคมรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ทางด้านการเมือง
1.               การท่องเที่ยวช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากต้องมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศในการสนับสนุนการท่องเที่ยว
2.               การท่องเที่ยวช่วยส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยและภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดมีแก่ประเทศ

1 ความคิดเห็น: